เคยหรือไม่เวลาขับรถอยู่ดีๆ ไม่มีอาการอะไรผิดปกติ จู่ๆ เครื่องยนต์เกิดดับไปเฉยๆ สตาร์ทเครื่องอีกครั้งก็ไม่ติด มารู้สาเหตุอีกทีความร้อนขึ้นสูงเพราะหม้อน้ำแห้ง! มันแห้งได้อย่างไร? ถ้าเติมน้ำแล้วจะขับต่อไปได้หรือไม่? ถ้าเครื่องยนต์ดับจากปัญหาของหม้อน้ำจะส่งผลเสียกับเครื่องยนต์ขนาดไหน? วิธีดูแลรักษาหม้อน้ำ จะรู้ได้อย่างไรว่าหม้อน้ำกำลังจะเกิดปัญหา? กูรูจาก ENNXO มีข้อแนะนำดีๆ มาฝากกัน รับรองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ใคร ๆ ก็ทำได้
ทำความรู้จัก "หม้อน้ำรถยนต์" กันก่อน
หม้อน้ำรถยนต์ (Car Radiator) เป็นอุปกรณ์หลักที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการทำงานของเครื่องยนต์โดยตรง จะติดตั้งอยู่ในรถยนต์ทุกประเภท รวมทั้งเครื่องยนต์ประเภทอื่นๆ ทั้งเรือ เครื่องบิน รถไฟ มีหน้าที่ในการระบายความร้อน และหล่อเย็นให้กับเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ขณะทำงานมีความร้อนสูงเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะเกิดความร้อนที่สูงมากจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงภายในห้องเครื่อง ซึ่งการเผาไหม้แต่ละครั้งจะมีอุณหภูมิสูงมาก
หม้อน้ำรถยนต์จะช่วยให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิที่ลดลงด้วยการส่งน้ำยาหล่อเย็น หรือ Coolant ไปลดอุณหภูมิที่รังผึ้งหม้อน้ำ
พูดง่ายๆ คือ น้ำยาหล่อเย็นจะนำพาความร้อนส่วนเกินออกมาจากเครื่องยนต์นั่นเอง และในขณะเดียวกันจะมีอุปกรณ์อีกตัวที่เรียกว่า พัดลมหม้อน้ำ ติดตั้งอยู่ด้านหน้าหม้อน้ำ จะช่วยเป่าลมผ่านรังผึ้งหม้อน้ำส่งลมไปพัดระบายความร้อนของหม้อน้ำอีกที
ทีนี้ถ้าพัดลมหน้าหม้อน้ำเสีย จะทำให้การลดอุณหภูมิของเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพน้อยลง เครื่องยนต์จะมีอุณหภูมิที่สูงมากขึ้น แต่ยังจะทำงานได้อยู่ แต่ถ้ายังขับใช้งานต่อไปเครื่องยนต์จะเริ่มร้อนมากขึ้น เมื่อเกินขีดจำกัดเครื่องยนต์จะดับทันทีซึ่งมีวิธีสังเกตคือ ที่มาตรวัดหน้าจอจะมีสัญลักษณ์เป็นรูปคล้ายเรือใบอยู่บนน้ำ
ถ้าสัญลักษณ์นี้มีไฟเตือนเป็นสีฟ้าขึ้นมา แสดงว่าเครื่องยนต์กำลังมีความร้อนสูง และสามารถดูได้อีกจุดคือ จะมีแถบมาตรวัดตัว H และ C ที่หมายความว่า Hot และ Cold ซึ่งโดยปกติแถบมาตรวัดนี้จะอยู่ระดับกลาง
ถ้าเข็มมาตรวัดขยับขึ้นไปใกล้ตัว H นั่นหมายความว่าเครื่องยนต์กำลังมีความร้อนที่สูงเช่นกัน และสามารถคาดเดาได้ว่าต้องมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทำความเย็นให้กับเครื่องยนต์ที่มีทั้งพัดลมหน้าหม้อน้ำ หม้อน้ำเครื่องยนต์ ถังพักน้ำหม้อน้ำ ในเวลานั้นควรหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อจอดรถและดับเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีอะไรที่มีปัญหา
โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ หม้อน้ำแห้ง หม้อน้ำรั่ว และถังพักน้ำหม้อน้ำรั่ว อาการเครื่องยนต์ความร้อนสูง จะเรียกว่า โอเวอร์ฮีท (Overheat) คือการที่หม้อน้ำรถยนต์ทำงานหนักเกินไป อาจจะใช้งานหนักมาก ใช้รอบเครื่องสูงมาก รวมทั้งไม่ได้ตรวจเช็คสภาพให้สมบูรณ์พร้อมใช้งาน อาจจะมีชิ้นส่วนบางอย่างเสื่อมสภาพ เกิดการรั่วในระบบหล่อเย็น ทางเดินน้ำอุดตัน ทำให้เครื่องยนต์น๊อคหรือดับกลางอากาศได้นั่นเอง
สำคัญที่สุด ห้าม! เปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนโดยเด็ดขาด! เพราะหากเปิดฝาหม้อน้ำจะทำให้แรงดันที่อยู่ข้างในดันน้ำร้อนให้พุ่งกระเด็นออกมาอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอันตรายจากน้ำร้อนลวกได้ หรือบางครั้งจะเกิดเป็นไอน้ำร้อนโพยพุ่งออกมาได้ด้วยเช่นกัน
มาตรวัดความร้อนของเครื่องยนต์มีกี่แบบ?
มาตรวัดความร้อนจะมี 2 แบบ คือ แบบเข็ม จะมีเข็มที่กวาดขึ้น-ลง หรือซ้าย-ขวา โดยปกติเข็มวัดความร้อนควรจะอยู่ครึ่งหนึ่งของมาตรวัด ถ้าเข็มกวาดมาเกินครึ่งแสดงว่าเครื่องยนต์เริ่มมีความร้อนสูงขึ้นผิดปกติ อีกแบบคือ แบบไฟเตือน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรถยุคใหม่ๆ สัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะมองคล้ายเรือใบบนคลื่น จะแสดงผลเป็นไฟสีฟ้า สีส้ม หรือสีแดง แตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ (ควรศึกษาในคู่มือของรถรุ่นที่ใช้) แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไฟติดขึ้นค้าง แสดงว่าเครื่องยนต์กำลังเร่าร้อนนั่นเอง
หม้อน้ำรถยนต์ควรเติมน้ำเปล่าหรือควรเติมน้ำอะไร?
เรื่องนี้อยากเน้นย้ำว่าของเหลวหรือน้ำที่ควรเติมลงในหม้อน้ำรถยนต์ ควรเป็นน้ำยาหล่อเย็นหรือที่เรียกว่า Coolant เท่านั้น เพราะน้ำยาหล่อเย็น เป็นตัวช่วยระบายความร้อนให้เครื่องยนต์โดยตรง ทำให้ไม่มีความร้อนที่สูงเกินไป รวมทั้งยังมีส่วนผสมจากสารอื่นๆ ที่ช่วยยืดอายุของหม้อน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สารป้องกันสนิม สารป้องกันตะกรัน ช่วยหล่อลื่นปั้มน้ำ ช่วยป้องกันการอุดตันภายในระบบหล่อเย็น ป้องกันการถูกกัดกร่อน ที่จะเป็นสาเหตุทำให้หม้อน้ำรั่วและหม้อน้ำแห้ง
วิธีเติมน้ำยาหล่อเย็น สามารถใส่เติมลงไปในถังพักน้ำหม้อน้ำได้เลย หรืออาจจะผสมน้ำกลั่นลงไปด้วย เพราะน้ำกลั่นเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอนหรือตะกรันที่จะไปจับตัวอยู่ตามเครื่องยนต์และหม้อน้ำ ซึ่งน้ำยาหล่อเย็นในตลาดจะมีการผสมสีลงไปด้วย มีสีแดงอมชมพูและสีเขียว ที่ต้องผสมสีเพื่อให้ช่วยตรวจสอบได้ง่ายขึ้นว่าหม้อน้ำมีจุดที่รั่วซึมตรงไหน เพราะถ้าเป็นน้ำใสๆ ไม่มีสี อาจจะมองไม่เห็นจุดที่รั่วนั่นเอง
แล้วสามารถเติมน้ำเปล่าได้หรือไม่?
คำตอบคือเติมได้ แต่ควรเติมเฉพาะฉุกเฉินหรือชั่วคราวเท่านั้น เพราะน้ำเปล่าจะมีจุดเดือดที่ต่ำกว่าน้ำยาหล่อเย็น ทำให้น้ำเดือดได้เร็วกว่า เมื่อน้ำเปล่าไปเจอกับความร้อนที่เกิดจากเครื่องยนต์ซึ่งมีอุณหภูมิสูงมาก จะส่งผลทำให้ระบบระบายความร้อนไม่สามารถระบายความร้อนได้เต็มที่ ถ้าขับรถใช้งานในระยะเวลาไม่นาน เครื่องยนต์อาจจะมีอุณหภูมิที่ไม่สูงมาก ยังใช้งานได้ แต่หากใช้ไปนานๆ น้ำเปล่าจะทำให้เกิดตะกอนและตะกรันในหม้อน้ำ ทำให้หม้อน้ำอุดตัน รั่วซึม ส่งผลให้ความร้อนสูง และส่งผลเสียต่อระบบการทำงานอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วย
หากเครื่องยนต์ดับจากหม้อน้ำแห้ง ควรทำอย่างไร?
- ต้องมีสติ พยายามประคองรถมาจอดข้างทางหรือในจุดที่ปลอดภัย จากนั้นจึงเปิดฝากระโปรงหน้ารถขึ้น เพื่อเป็นการระบายความร้อนออกมาจากห้องเครื่องยนต์
- ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในทันทีเด็ดขาด ให้รอสักครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง ให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิลดลง แล้วใช้ผ้าหนาๆ คลุมฝาเปิดหม้อน้ำ แล้วจึงค่อยๆ เปิดฝาหม้อน้ำออกมา
- ให้ค่อยๆ เติมน้ำลงในหม้อน้ำ (ควรหาซื้อน้ำยาหล่อเย็นติดรถเอาไว้สัก 1 ขวด หรือควรมีน้ำเปล่าติดไว้สัก 1 ลิตร เป็นอย่างน้อย เผื่อฉุกเฉิน) และให้สังเกตว่าน้ำที่เติมลงไปมีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าเติมไม่เต็ม ให้มองที่ใต้ท้องรถ ใต้จุดติดตั้งหม้อน้ำเพื่อดูว่ามีน้ำรั่วออกมาหรือไม่ ถ้ามีน้ำเจิ่งนองอยู่เป็นไปได้ว่าหม้อน้ำรั่ว งานนี้ต้องเรียกรถสไลด์อย่างเดียว แต่ถ้ามีน้ำรั่วซึมแบบที่ไม่ไหลลงพื้นในปริมาณมาก จะยังสามารถพอขับรถต่อไปได้ แต่ต้องจอดเติมน้ำเป็นระยะๆ จนกว่าจะถึงอู่ซ่อมรถ ทางที่ดีให้เรียกรถมาลากไปที่อู่จะดีกว่า ปลอดภัยที่สุด
เมื่อไหร่ควรล้างหม้อน้ำ?
ถ้าเป็นรถยนต์ที่อายุใช้งานไม่เกิน 3-5 ปี หรืออยู่ในระยะประกัน ไม่จำเป็นต้องซีเรียสกับเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่ระบบระบายความร้อนและหม้อน้ำรถยนต์จะยังคงทำงานได้ปกติ เพียงแค่ต้องคอยสังเกตไฟเตือนและมาตรวัดความร้อนสม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นไปได้ แม้ว่ารถยนต์จะยังมีอายุไม่มาก สภาพการใช้งานยังดี ผู้ใช้งานควรเปิดฝากระโปรงเช็คระดับน้ำในหม้อพักน้ำให้อยู่ในระดับ MAX อยู่เสมอ (ไม่ควรเติมน้ำเกิน MAX) ซึ่งจุดนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเติมน้ำยาหล่อเย็นที่หม้อน้ำโดยตรง
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่น้ำในหม้อน้ำเริ่มลดระดับลงผิดปกติ มีการเติมน้ำลงไปเต็มแล้ว แต่ไม่นานระดับน้ำยังลดลง ให้สันนิษฐานว่าหม้อน้ำน่าจะมีปัญหา เมื่อถึงเวลานั้นนึงควรให้ช่างมาแก้ไข หรือถ้าเห็นว่าน้ำในหม้อน้ำเริ่มดูขุ่นข้น มีตะกอน มากผิดปกติ ก็ควรเรียกให้ช่างมาแก้ไขเช่นเดียวกัน
ล้างหม้อน้ำเองได้หรือไม่?
สามารถทำได้ แต่ต้องเตรียมอุปกรณ์หลายอย่างหน่อย กับใจที่พร้อมชำแหละรถตัวเอง สิ่งที่ต้องเตรียมคือ น้ำยาล้างหม้อน้ำ, สายยางฉีดน้ำ, แปรงล้างหม้อพักน้ำ, น้ำสบู่, คีม ไขควง สำหรับปลดหม้อพักน้ำและท่อยาง รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ อย่างถุงมือยาง แว่นกันสะเก็ด ผ้าเช็ดน้ำ และถังเก็บน้ำยาหล่อเย็นเก่าที่ระบายออกมาจากหม้อน้ำ
หลังจากที่เครื่องยนต์เย็นแล้ว (แนะนำให้ทำตอนเช้า เพราะปล่อยให้รถอุณหภูมิลดลงมาทั้งคืน) เริ่มต้นด้วยการมุดลงไปดูที่หม้อน้ำ จะเห็นวาล์วเปิดน้ำใต้หม้อน้ำ ให้เปิดแล้วถ่ายน้ำออกให้หมด แล้วปิดวาล์วเอาไว้พอหลวมๆ จากนั้นเติมน้ำยาล้างหม้อน้ำและน้ำเปล่าลงไปในหม้อน้ำ แล้วสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อให้น้ำเข้าไปทำความสะอาดในระบบ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ดับเครื่องยนต์ รอให้เครื่องยนต์อุณหภูมิลดลง
ทำซ้ำแบบเติมจนกว่าน้ำที่ไหลออกมาทางวาล์วมีความใส ไม่มีสี ไม่มีคราบแปลกปลอมหลุดออกมา จากนั้นให้ถอดหม้อพักน้ำและท่อยางมาทำความสะอาด แล้วจึงติดตั้งหม้อพักน้ำและท่อน้ำเข้าที่เดิม เสร็จแล้วให้ผสมน้ำยาหล่อเย็นกับน้ำกลั่น เทลงไปในหม้อน้ำจนเต็ม เป็นอันเสร็จพิธี แต่ขอแนะนำว่าให้ช่างที่มีความชำนาญทำให้ดีกว่านะ
ข้อควรรู้ก่อนเติมหม้อน้ำรถยนต์
หากพบว่ามีไฟเตือนแจ้งความร้อนในเครื่องยนต์ขึ้นสูง แล้วยังขับรถต่อไปจนเครื่องยนต์ดับ หรือที่เรียกว่า โอเวอร์ฮีท งานนี้เรียกว่างานเข้าได้เต็มปาก เพราะอาจจะคิดว่าเป็นเพราะหม้อน้ำรถยนต์มีปัญหาเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด
เมื่อพยายามขับรถต่อไป ความร้อนที่เกิดขึ้นอาจทำให้น้ำในระบบแห้ง และความร้อนลามไปทำลายชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าต้นเหตุจะมาจากหม้อน้ำ แต่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบตามมาจากหม้อน้ำ อาจจะไม่เข้าเกณฑ์ของประกัน ทำให้ไม่สามารถเคลมได้ เพราะประกันสามารถพิจารณาได้ว่า การพยายามขับรถต่อไป เป็นเจตนาที่ทำให้ชิ้นส่วนอื่นๆ เสียหาย กลายเป็นความจงใจไปซะอีก งานนี้ถึงบอกว่างานเข้าของจริง
นี่คือข้อแนะนำง่ายๆ จากเอ็นโซ่ แต่อาจจะยาวหน่อย เกี่ยวกับการดูแลหม้อน้ำรถยนต์ ที่สำคัญคือ ควรดูแลสภาพรถยนต์ด้วยตัวเองเป็นประจำ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดการคุ้นเคยและช่วยให้สังเกตได้ว่ามีจุดใดที่ผิดปกติ เพื่อที่จะได้ทำการแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง