Road N Roll

รู้จัก "เขตปลอดภัย" หมายความว่าอย่างไร กลับรถได้ไหม รถวิ่งทับได้ไหม?

หลายคนคงเคยเห็น เส้นก้างปลา หรือที่เรียกว่า เขตปลอดภัย บริเวณทางเท้า หรือทางแยกต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่อยู่ในช่องทางจราจรที่ถูกต้อง อีกทั้งเส้นก้างปลายังช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้นและป้องกันการลื่นไถลในวันที่ฝนตกถนนลื่น แล้วยังทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายจราจรบนถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่รู้ว่ากำลังจะเข้าใกล้พื้นที่ควรใช้ความระมัดระวัง จึงช่วยป้องกันอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น แต่ เขตปลอดภัย หมายความว่าอย่างไร วันนี้เราไปหาคำตอบกัน

road safe zone

เขตปลอดภัย หมายความว่าอย่างไร

เส้นก้างปลา หรือ เขตปลอดภัย หรือ เกาะสี ที่หลายคนมักจะเรียกกัน หมายถึง เครื่องหมายจราจรประเภทบังคับ มีลักษณะเป็นเส้นทึบสีขาวหรือสีเหลือง ตีในลักษณะทแยงกับทิศทางการจราจร หรือเป็นรูปก้างปลา ล้อมรอบด้วยเส้นทึบสีขาวหรือสีเหลือง เส้นก้างปลาอาจจะทาไว้บริเวณกลางถนน หรือริมถนนด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อบ่งบอกว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดขับรถล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว" และไม่สามารถขับรถล้ำเส้นเข้าไปได้นั่นเอง

เส้นเขตปลอดภัยบนถนน ยังใช้แสดงพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า ให้เดินข้ามหรือหยุดรอเพื่อข้ามถนนต่อได้ โดยเฉพาะบริเวณทางแยกที่มีรถมากจะมีเส้นเขตปลอดภัยเพื่อบอกให้คนเดินเท้าทราบถึงบริเวณที่สามารถหยุดรอได้ หรือพื้นที่ให้คนหยุดรถ-ลงรถได้อย่างเหมาะสม

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเขตปลอดภัยแล้ว เส้นก้างปลายังช่วยเตือนให้ผู้ขับขี่และคนเดินเท้าเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนน และช่วยให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเมื่อเห็นสัญลักษณ์จราจรดังกล่าว อีกทั้งเส้นก้างปลาบนถนนยังระบุว่า ไม่อนุญาตให้จอดรถ หรือกีดขวางพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งช่วยให้แน่ใจว่า รถฉุกเฉินสามารถจอดบริเวณนั้นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเขตปลอดภัยบนถนนมีหน้าที่หลัก 4 ประการคือ

1.ควบคุมทิศทางการจราจรสำหรับเลี้ยวรถ

2.แยกการจราจรในเส้นทางที่สวนกัน หรือแยกการจราจรที่วิ่งในทิศทางเดียวกัน

3.เป็นที่พักหรือหยุดรอ สำหรับคนเดินเท้า

4.ป้องกันการขับรถชนเกาะกลาง หรือช่วยให้รถฉุกเฉินสามารถจอดบริเวณนั้นได้

เขตปลอดภัย กลับรถได้ไหม วิ่งทับได้ไหม

เนื่องจากเส้นก้างปลาเป็นเขตความปลอดภัยบนถนน ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนควรเคารพ เส้นเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นคำเตือนแก่ผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็ว และใช้ความระมัดระวังเมื่อเข้าใกล้พื้นที่ที่อาจเป็นอันตราย การปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ

หากมีผู้ใดฝ่าฝืนวิ่งทับ หรือขับรถล้ำเส้นเข้าไปในเขตปลอดภัยบนถนน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

อีกทั้งการเคารพเขตปลอดภัยบนถนน จะช่วยปกป้องคนเดินถนนและนักปั่นจักรยาน เส้นเหล่านี้มักทำเครื่องหมายขอบถนนให้มีขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างถนนกับทางเดินหรือทางจักรยาน

นอกจากนี้ เขตปลอดภัยบนถนนยังช่วยป้องกันความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเส้นเหล่านี้มักจะทำเครื่องหมายบริเวณที่ถนนแคบลง หรือบริเวณที่มีสิ่งกีดขวาง การอยู่ในเลนที่กำหนดจะสามารถหลีกเลี่ยงการชนกับสิ่งกีดขวางได้ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับท้องถนนหรือโครงสร้างอื่น ๆ จึงช่วยลดต้นทุนในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถนนอีกด้วย

ความแตกต่างระหว่าง เขตปลอดภัย VS เขตห้ามหยุด

เขตปลอดภัยกับเขตห้ามหยุดต่างกันอย่างไร

เขตห้ามหยุด จะแตกต่างจาก เขตปลอดภัย หรือเส้นก้างปลา ตรงที่ลักษณะของเขตห้ามหยุดจะเป็นเส้นทแยงมุมสีเหลืองตัดกัน 45 องศา ซึ่งคุณสามารถขับรถผ่านเขตห้ามหยุดได้ แต่ไม่สามารถหยุดรถหรือจอดรถทับเส้นได้ เพราะการจอดรถทับเขตห้ามหยุดจะกีดขวางการจราจร เนื่องจากเป็นทางเข้า-ออกซอย หรือสถานที่ต่าง ๆ จึงกำหนดไม่ให้มีการหยุดรถเพื่อช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดนั่นเอง

ถึงอย่างนั้น เราก็มักจะเห็นรถจอดทับ "เขตห้ามหยุด" กีดขวางทางเข้า-ออกเป็นประจำ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) ระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถในช่องทางเดินรถ เว้นแต่หยุดรถชิดขอบทางด้านซ้าย กรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง" หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

นอกจากนี้ เขตห้ามหยุดยังพบได้บริเวณทางเท้า บนสะพาน ในอุโมงค์ ทางร่วม ทางแยก เขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ ปากทางเข้าออกของอาคาร เขตปลอดภัย และห้ามหยุดในลักกีดขวางการจราจร

รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมเคารพกฎจราจรทั้ง เขตปลอดภัย บนถนนหรือเส้นก้างปลา และ เขตห้ามหยุด เพื่อช่วยลดการจราจรติดขัด ลดการเกิดอุบัติเหตุ ช่วยให้รถฉุกเฉินสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และคนเดินถนนในเวลาเดียวกัน


© Road N Roll (powered by ENNXO) 2024